Tuesday, February 9, 2016

การใช้ยาสมุนไพร

เมื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย คงหนีไม่พ้นการรับประทานยา ซึ่งการรับประทานยาเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ที่บ้านเรานั้นการรับประทานยาแผนปัจจุบันดูจะเป็นอะไรที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันเลยทีเดียว แม้กระทั่งคนสมัยใหม่ก็มีความเชื่อว่ายาแผนปัจจุบันทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากมาย การหันมารับประทานสมุนไพรจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น หลายท่านจึงอาจจะสงสัยว่าการรับประทานสมุนไพรอย่างไรจะได้ประสิทธิภาพมากที่สุด


        สมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีหลายสรรพคุณในต้นเดียวกันอีกด้วย เพราะว่าในต้นไม้แต่ละต้นนั้นจะมีตัวยาสำคัญที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นเจ้าตัวยาสำคัญยังมีหลายชนิดในหนึ่งต้น และยังกระจายตัวอยู่ในแต่ละส่วนของต้นไม่เท่ากันอีกด้วย เพราะฉะนั้นการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องเราควรปฏิบัติ ดังนี้


   1. เลือกใช้สมุนไพรให้ถูกต้นตามสรรพคุณ เชื่อหรือไม่ว่า ต้นไม้ต้นหนึ่งมีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อ ต่างถิ่นก็เรียกแตกต่างกัน หรือ ชื่อเดียวกันแต่คนละพื้นที่ก็กลายเป็นคนละต้นกัน เพราะฉะนั้นจะเลือกใช้สมุนไพรให้ถูกโรคสิ่งแรกก็ต้องได้สมุนไพรที่ถูกต้นมาก่อน
   2. เลือกใช้ให้ถูกส่วน อย่างที่บอกไปแล้วว่าตัวยาสำคัญในต้นไม้ถูกสร้างและเก็บไว้ในแต่ละส่วนของต้นไม้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นต้นไม้ต้นเดียวกันในส่วนของ ใบ ดอก ราก หัว เหง้า จะมีตัวยาสำคัญไม่เท่ากันหรือมีตัวยาสำคัญที่แตกต่างกัน ดังนั้นสรรพคุณทางยาและผลการรักษาก็แตกต่างหรือไม่เท่ากัน ในบางครั้งอาจได้สรรพที่ตรงกันข้ามกันอีกต่างหาก
   3. เลือกใช้ให้ถูกเวลา นอกจากจะใช้ถูกต้น ถูกส่วนแล้ว ต้องถูกเวลาด้วย คำว่าถูกเวลาขอยกตัวอย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่ใครๆก็รู้จัก มีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ที่เราพบกันจะเป็นแคปซูลใบฟ้าทะลายโจร ใบที่นำมาเป็นยานั้นจริงๆแล้วควรเป็นใบอ่อนหรือใบแก่ จากการศึกษาพบว่า ใบฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญทางยาโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้นยังไม่ออกดอก หากออกดอกแล้ว ตัวยาจะวิ่งไปเก็บที่ดอกหมด การรับประทานใบฟ้าทะลายโจรในช่วงนั้นจึงให้ผลการรักษาไม่ดี
   4. เลือกใช้อย่างถูกขนาด ข้อนี้ไม่เข้าใจไม่ยาก เหมือนยาแผนปัจจุบันถ้าใช้มากเกินไปก็เป็นอันตรายแน่นอน หากใน้อยเกินก็ไม่เห็นผล
   5. เลือกใช้อย่างถูกวิธี สมุนไพรบางอย่างต้องต้ม บางอย่างต้องดองเหล้า บางตำรับต้องใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น บางอย่างใช้ได้แค่ภายนอก หรือเฉพาะที่เท่านั้น
   6. เลือกใช้ให้ถูกโรค นอกจากจะถูกโรคแล้วยังต้องไม่ทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่แย่ลงด้วย หรือทำให้ยาที่ใช้อยู่เป็นประจำทำงานได้ไม่เหมือนเดิม หรือที่เรียกว่า ยาตีกันนั่นเอง


        การใช้สมุนไพรอย่างถูกวิธีเท่าที่เล่ามาอาจจะดูเป็นเรื่องยากและจุกจิกมากทีเดียว อย่างไรก็อย่าเพิ่งเปลี่ยนใจไม่อยากใช้ยาสมุนไพรกันนะคะ เพราะถ้าเราใช้สมุนไพรอย่างถูกวิธี ประสิทธิภาพในการรักษาโรคก็จะดี สุขภาพเราก็จะดีตามไปด้วย

เอกสารอ้างอิง
1. สมภพ ประธานธุรารักษ์, พร้อมจิต ศรลัมม์. สมุนไพร: การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์
ที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ข้อมูลและตรวจสอบมาตรฐานสมุนไพร มหาวิทยาลัย
มหิดล. 2547: 88 – 91.
2. http://www.medplant.mahidol.ac.th/document/correct.asp


เรียบเรียงโดย ภญ.ภัทราวดี จิระอนันต์กุล

Key: การใช้ยาสมุนไพร, herb, herbal

แหล่งข้อมูล:
http://www.yaandyou.net/content-view.php?conid=537

No comments:

Post a Comment