Sunday, April 19, 2015

ไมเกรน (Migraine)

โดยแพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
วว. พยาธิวิทยากายวิภาค

โรคปวดศีรษะไมเกรน หรือโรคปวดหัวข้างเดียว หรือบางคนเรียกสั้นๆว่าโรคไมเกรน(Migraine) เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยมีอาการปวดศีรษะกำเริบเป็นพักๆ (Migraine attack) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะในระดับปานกลางถึงรุนแรง และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ และตากลัวแสง เป็นต้น

ภาพประกอบจาก
http://www.teamessence.com.my/migraine-headaches/

ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย และปัจจุบันโรคนี้มียาที่สามารถรักษาบรรเทาอาการ และยาที่ป้องกันอาการกำเริบของโรค
มีการประมาณว่าใน 1 วัน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนประมาณ 3,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน โดยพบอัตราเป็นโรคนี้สูงสุดในคนอเมริกาเหนือ รองลงมาคือคนอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉลี่ยพบว่า ผู้หญิงประมาณ 15% จะเป็นโรคนี้ ใน ขณะที่ผู้ชายพบเป็นโรคนี้เพียงประมาณ 6%
อัตราสูงสุดของการเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดไม่มีอาการนำ ในผู้ชายอยู่ที่อายุ 10 -11 ปี ส่วนในผู้หญิง อยู่ที่ 14 - 17 ปี
ส่วนอัตราสูงสุดของผู้เป็นไมเกรนชนิดมีอาการนำ ในผู้ชายอยู่ที่อายุประมาณ 5 ปี ในผู้ หญิงประมาณ 12 - 13 ปี
โดยมีอัตราการเป็นโรคไมเกรนทุกชนิดสูงสุดทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายอยู่ที่ช่วงอายุ 30 -40 ปี ทั้งนี้แทบจะไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุเลย 50 ปีไปแล้ว

โรคไมเกรนมีปัจจัยเสี่ยงไหม
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไมเกรน คือ
·         พันธุกรรม ประมาณ 70% ของผู้ป่วยจะมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน และถ้ามีญาติที่เป็นโรคนี้โดยเฉพาะเป็นแบบมีอาการนำชนิดออรา (Aura คือ อาการที่เกี่ยวกับความรู้สึก เช่น เห็นแสงวาบ เห็นจุดดำๆ หรือรู้สึกซ่าในบริเวณใบหน้าและมือ เป็นต้น) โอกาสที่จะเป็นโรคนี้มีประมาณ 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีการถ่ายทอดผ่านจีนหรือยีน (Gene คือ ลักษณะทางพันธุกรรม) ตัวไหนชัดเจน แต่พบว่าอาจสามารถถ่าย ทอดผ่านทางจีนจากแม่สู่ลูกได้
อย่างไรก็ตาม บางชนิดของโรคปวดศีรษะไมเกรน ทราบตำแหน่งจีนที่ผิดปกติชัดเจน คือ โรคไมเกรนชนิดมีอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย (Familial hemiplegic migraine) เกิดจากมีความผิด ปกติที่บางตำแหน่งบนหน่วยพันธุกรรม (โครโมโซม/chromosome) คู่ที่ 1 หรือ 19 ซึ่งถ่าย ทอดทางพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกชั่ว คราวร่วมด้วย
·         โรคอื่นๆ บุคคลที่มีโรคบางอย่างจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย เช่น โรคลมชักบางชนิด โรคไขมันในเลือดสูงแบบที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคหืด คนที่มีผนังกั้น ห้องหัวใจห้องบนรั่ว โรคซึมเศร้า วิตกกังวล รวมทั้งโรคพันธุกรรมอีกหลายชนิด (ซึ่งมีชื่อเรียกที่ยากและยาว และพบได้น้อย จึงไม่ขอกล่าวถึง)

อะไรคือกลไกการเกิดโรคไมเกรน
กลไกการเกิดโรคไมเกรน ยังไม่ละเอียดแน่ชัด ปัจจุบันกำลังค้นพบข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ทฤษฎีแรกที่มีผู้เสนอไว้ คือ
·         ทฤษฎีเกี่ยวกับหลอดเลือด (Vascular theory) ทฤษฎีนี้ถูกคิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2483 โดย Wolff (แพทย์ชาวอเมริกัน) ซึ่งอธิบายว่า อาการนำก่อนปวดศีรษะชนิดออรา เกิดจากหลอดเลือดในสมองมีการหดตัว และเมื่อหลอดเลือดที่หดตัวขยายตัวออก จะทำให้มีอาการปวดศีรษะตามมา โดยหลักฐานสนับสนุนคือ พบหลอดเลือดนอกกะโหลกศีรษะมีการขยายตัวและเต้นตุ้บๆ และการให้ยาช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น ส่วนการให้ยาที่ขยายหลอดเลือด ทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายอาการนำก่อนปวดศีรษะชนิดไม่มีออรา รวมทั้งอาการร่วมที่เกิดระหว่างไมเกรนว่าเกิดได้อย่างไร นอกจากนั้น ยาบางตัวซึ่งไม่มีผลในการหดตัวของหลอดเลือด แต่ก็สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ รวมทั้งการตรวจภาพหลอดเลือดสมองก่อนเกิดอาการและระหว่างเกิดอาการ ก็ไม่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ดังนั้นปัจจุบันทฤษฎีนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่ยอบรับ
·         ทฤษฎีเกี่ยวกับเซลล์ประสาท หลอดเลือด และสารสื่อประสาทร่วมกัน (Neurovascu lar theory) Leao ชาวบราซิล เป็นผู้เสนอทฤษฎีนี้ในปี พ.ศ. 2487 ซึ่งอธิบายว่า เซลล์ประ สาทในสมองบางตัวเกิดการตื่นตัว และปล่อยสารสื่อประสาท (สารเคมีที่มีหน้าที่ส่งต่อสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท) กระตุ้นเซลล์ประสาทใกล้เคียงให้ตื่นตัว และส่งต่อสัญญาณไปเรื่อยๆ การที่เซลล์ประสาทถูกกระตุ้นนี้ นำมาอธิบายการเกิดอาการนำก่อนการปวดศีรษะของผู้ป่วยได้ ส่วนอาการปวดศีรษะของผู้ป่วยอธิบายได้จาก เมื่อเซลล์ประสาทถูกกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนไปกระ ตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทเฉพาะชนิดหนึ่ง เรียกว่า Trigerminal nucleus ซึ่งจะปล่อยสารเคมีหลายชนิดที่มีผลก่อให้เกิดอาการปวดเข้าสู่หลอดเลือด นอกจากสารเคมีกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการปวดแล้ว ยังมีผลทำให้ หลอดเลือดขยายตัวอีกด้วย
จากทฤษฎีนี้ มีผู้ค้นพบเพิ่มเติมต่อไปอีกมากมาย เช่นจุดเริ่มต้นของการเกิดไมเกรน น่า จะมาจากเซลล์ประสาทในก้านสมอง (ควบคุมการหายใจ การทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และความเจ็บปวด) และในสมองส่วนธาลามัส (สมองส่วนกลางที่ควบคุมสมดุลการรับรู้ความรู้ สึกของร่างกาย เช่น ด้านเสียง แสง และการได้ยิน) และได้มีการค้นพบว่าสารสื่อประสาทบางตัว คือ โดปามีน (Dopamine) และซีโรโทนิน (Serotonin) ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดอาการต่างๆในไมเกรน และยังพบยาที่สะกัดการทำงานของสารสื่อประสาทที่ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ เป็นต้น

โรคไมเกรนมีอาการอย่างไร
สามารถแบ่งอาการจากโรคไมเกรนได้ดังนี้
·    อาการนำ
1.    อาการไมเกรนแบบคลาสสิก (Classical migraine) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการนำ แบบออร่า โดยก่อนปวดศีรษะ อาการออร่าจะเป็นอยู่นาน 5-20 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) แล้วจะเว้นระยะไปพักหนึ่งก่อนปวดศีรษะ ซึ่งอาการออร่าแบ่งได้เป็นอาการ ทางตา ทางประสาทรับความรู้สึก และทางประสาทสั่งการ หรือหลายๆอาการร่วมกัน
§  อาการทางตา ที่พบบ่อยคือ การเห็นแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นจุดๆ โดยมีขอบของแสงแบบซิกแซก ซึ่งจะเริ่มเกิดตรงกลางก่อนที่จะขยายใหญ่ขึ้น บางครั้งอาจเห็นภาพผิดไปจากความเป็นจริง เช่น ภาพใหญ่ขึ้นจากปกติ เล็กกว่าปกติ เห็นภาพเป็นขาว-ดำ ไม่มีสี ร่วมด้วยได้ อาการอื่นเช่น ลานสายตาผิดปกติ เห็นภาพแคบลง หรือภาพตรงกลางหายไป
§  อาการเกี่ยวกับประสาทรับความรู้สึก คือมีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา ซ่า หรือแสบร้อน
§  อาการเกี่ยวกับประสาทสั่งการ คือ มีความรู้สึกหนักที่แขนขา เหมือนไม่มีแรง แต่ไม่ใช่อัมพาตจริงๆ
2.    อาการไมเกรนแบบพบบ่อย (Common migraine) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการนำแบบออร่า แต่มีอาการนำอื่นๆแทน หรืออาจไม่มีการนำก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการนำก่อนที่จะปวดศีรษะได้นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ได้แก่ รู้สึกไวกับแสง เสียง หรือกลิ่นมากกว่าปกติ รู้สึกเพลีย หาวบ่อย หิวบ่อย กินจุ หิวน้ำบ่อย ท้องผูก หรือท้องเสีย
คือ อาการที่เกิดนำก่อนการปวดศีรษะ อาจนำก่อนเป็นนาที หรือ เป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน ซึ่งจากลักษณะอาการนำ แบ่งผู้ป่วยไมเกรนได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
·         อาการปวดศีรษะอาการปวดศีรษะที่เกิดตามมาหลังอาการนำในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีลักษณะดังนี้คือ มักเกิดในช่วงที่ผู้ป่วยตื่นอยู่ มีน้อยคนที่จะเกิดในขณะหลับและทำให้ต้องตื่นขึ้นมา อาการปวดศีรษะมักปวดข้างเดียว ไม่ขึ้นกับข้างซ้าย หรือ ขวา เป็นข้างไหนก็ได้ และแต่ละครั้งที่ปวดอาจจะย้ายข้างได้ ลักษณะปวดเป็นแบบตุ๊บๆ ความรุนแรงปานกลางหรืออาจปวดรุนแรง โดยมากจะปวดบริเวณ ขมับ ศีรษะด้านหน้า และรอบลูกตา ต่อมาอาการปวดจะลามไปด้านหลังของศีรษะ และในที่สุดอาจปวดทั้งศีรษะ อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการมีกิจกรรมต่างๆจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักชอบอยู่เงียบๆ และการนอนหลับจะทำให้อาการปวดดีขึ้น
·         อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมกับอาการปวดศีรษะคือ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตากลัวแสง กลัวเสียง มึนศีรษะ เจ็บหนังศีรษะ เมื่ออาการปวดศีรษะหายไปแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอา การอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนล้า รู้สึกหมดแรงตามมาได้ หรือในทางตรงกันข้าม อาจรู้สึกสดชื่น กระปรี้ประเปร่าผิดปกติก็ได้
อนึ่ง ยังมีผู้ป่วยไมเกรนกลุ่มอื่นๆ ที่พบได้น้อย คือ
1.    โรคไมเกรนชนิดมีอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่าโรคชนิดนี้พบมีความผิดปกติของจีนที่ชัดเจน ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบได้น้อยมาก โดยจะมีอาการนำคือ แขน ขาครึ่งซีกอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ร่วมกับมีอาการชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ลานสายตาบอดไปครึ่งซีก อาจมีอาการซึมร่วมด้วยได้ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นาน 30-60 นาทีแล้วหายไป ตามด้วยอาการปวดศีรษะเหมือนไมเกรนทั่วๆไป
2.    โรคไมเกรนชนิดเกิดกับใบหน้า (Facial migraine หรือ carotidynia) เป็นโรคไมเกรนที่มักเกิดในคนอายุ 40-60 ปี ผู้ป่วยจะไม่ปวดศีรษะ แต่จะปวดบริเวณกรามและคอแทน จะปวดซีกเดียวและปวดแบบตุ๊บๆเหมือนกัน และหลอดเลือดบริเวณลำคอข้างที่ปวดจะเห็นเต้นตามจังหวะหัวใจได้ชัดเจนน
3.    โรคไมเกรนในเด็ก (Childhood periodic syndrome) เกิดขึ้นในเด็ก โดยเด็กจะมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน อาเจียนรุนแรง อาการกำเริบขึ้นเป็นช่วงๆ และเมื่อเด็กโตขึ้น ก็จะเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนในที่สุด
4.    โรคไมเกรนชนิดเกิดกับสมองส่วนด้านหลัง (Vertebrobasilar migraine) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการปวดศีรษะเหมือนกลุ่มข้างต้น แต่จะมีอาการอื่นๆแทน เช่น มึนงง เวียนศีรษะ พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน และระบบการทรงตัวเสียไป
5.    โรคไมเกรนชนิดเป็นอยู่นาน (Status migraine) คือผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะนานเกิน 72 ชั่วโมงขึ้นไป

แพทย์วินิจฉัยโรคไมเกรนได้อย่างไร
แพทย์วินิจฉัยโรคไมเกรน จากอาการผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย โดยมีเกณฑ์การวินิจ ฉัยเฉพาะโรคที่เป็นสากลใช้กันทั่วโลกซึ่งซับซ้อน จึงไม่ขอกล่าวรายละเอียด ที่สำคัญ คือ ต้องแยกจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดอื่นๆให้ชัดเจน โดยเฉพาะโรคปวดศีรษะจากความเครียด(Tension-type headache) ซึ่งพบได้บ่อยมากกว่าโรคปวดศีรษะไมเกรนประมาณ 4 เท่า เพราะมีวิธีรักษาแตกต่างกัน และเพื่อแยกโรคทางระบบประสาทที่สำคัญอื่นๆออกไป เช่น เนื้องอกสมอง เป็นต้น

มีแนวทางการรักษาโรคไมเกรนอย่างไร
แนวทางการรักษาโรคไมเกรน คือ
1.    หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้น ได้แก่ ความเครียด การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป การเจอแสงแดดจ้าหรือแสงไฟสว่างเกินไป กลิ่นที่รุนแรง เช่น น้ำหอม กลิ่นน้ำมันเครื่อง บุหรี่ อาหารบางอย่างก็อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ เช่น เนย โยเกิร์ต กล้วย ช็อคโกแลต ไส้กรอก ลูกเกด ถั่วต่างๆ ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู ผักดอง ผงชูรส สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สารกันบูด ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ส่วนปัจจัยอื่นๆที่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ช่วงมีประจำเดือน ช่วงไข่ตก (ประมาณกลางช่วงวงรอบประจำเดือน) สภาพอากาศที่เย็นเกินไป หรือที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน เกิดติดเชื้อเจ็บป่วยไม่สบาย เมารถ เมาเรือ ทั้งนี้ในผู้ป่วยแต่ละคน ปัจจัยกระตุ้นจะไม่เหมือนกัน และบางคนอาจจะไม่ทราบสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน ผู้ป่วยไมเกรนจึงต้องสังเกตตัวกระตุ้นอาการเสมอเพื่อการหลีกเลี่ยง
2.    การใช้ยารักษา มีหลักการคือ การใช้ยาเพื่อบรรเทาขณะมีอาการปวดศีรษะ และการใช้ยาในระหว่างที่ไม่ได้มีอาการปวดศีรษะ เพื่อป้องกันและลดความถี่ ลดความรุนแรงในการกำเริบของอาการ
1.    การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการขณะปวดศีรษะ มียาอยู่หลายกลุ่มให้เลือกใช้ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการทั้งแบบกินและแบบฉีด ที่รู้จักกันดี คือ ยาคาเฟอร์กอท(Cafergot)
2.    การใช้ยาเพื่อป้องกัน ลดความถี่และความรุนแรงของอาการ มียาอยู่หลายตัวให้เลือกใช้เช่นกัน ผู้ป่วยต้องมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ จึงจะพิจารณาให้ได้รับยา คือ
§  การปวดศีรษะกำเริบมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน
§  การปวดศีรษะแต่ละครั้ง กินเวลานานมากกว่า 24 ชั่วโมง
§  การปวดศีรษะแต่ละครั้ง ทำให้ทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันปกติไม่ได้
§  ใช้ยาในกลุ่มที่บรรเทาอาการขณะปวดศีรษะหลายตัวแล้วไม่ได้ผล
§  ใช้ยาในกลุ่มที่บรรเทาอาการขณะปวดศีรษะบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
3.    ใช้ยารักษาอาการอื่นๆที่เกิดขณะปวดศีรษะ เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อา เจียน
3.    การใช้วิธีทางการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น การใช้หลักทางจิตวิทยามาร่วมรักษา การสะกดจิต การฝึกโยคะ การฝังเข็ม การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น เป็นต้น

โรคไมเกรนรุนแรงไหม
โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง แต่มีโอกาสหายได้ โดยพบว่าประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยไมเกรนที่เป็นมา 15 ปี แล้ว จะไม่มีอาการปวดศีรษะกำเริบมาอีกเลย
ในช่วงที่ผู้ป่วยอายุน้อย อาการปวดศีรษะจะเป็นถี่และรุนแรงกว่าเมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังอายุ 40 ปี ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดจะลดลง ยกเว้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร ที่อาการอาจกลับมาเลวลงอีก

มีผลข้างเคียงจากโรคไมเกรนไหม
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคไมเกรน คือ
      1.    ผู้ป่วยโรคไมเกรนแบบมีออร่าเป็นอาการนำ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ส่วนผู้ป่วยไมเกรนแบบไม่มีออร่าเป็นอาการนำ อาจมีความเสี่ยงของโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง
      2.    ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการขณะปวดศีรษะบางตัวบ่อยเกินไป แทนที่จะช่วยบรรเทาอาการ อาจกลับทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง(Chronic migraine) คือมีอาการปวดศีรษะในแต่ละครั้งยาวนานมากกว่า 15 วัน และอาการนี้เป็นอยู่นานมากกว่า 3 เดือน

ควรดูแลตนเองอย่างไร ควรพบแพทย์เมื่อไหร่
การดูแลตนเอง/การพบแพทย์สำหรับผู้ป่วยไมเกรน คือ
1.    ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรง ร่วมกับมีไข้ หรืออาเจียนมาก ไม่ว่าเป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว หรือไม่เคยปวดศีรษะเรื้อรังมาก่อน ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจมีโรคอื่นเกิดขึ้นมาใหม่ เช่น โรคสมองอักเสบ หรือเนื้องอกสมอง
2.    ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังบ่อยๆ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจไม่ตรงกับโรค เนื่องจากโรคปวดศีรษะแบบเรื้อรังมีอยู่หลายโรคเช่น จากความเครียด จึงควรพบแพทย์ที่เคยให้การรักษา เพราะจะได้ติดตามอาการของผู้ป่วย และได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง หรือเมื่อยังไม่เคยพบแพทย์เลย ก็ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม
3.    ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไมเกรนแล้ว ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากการใช้ยารักษาบางตัวที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดยา มีผล ข้างเคียงเกิดขึ้น และที่สำคัญ คือ ทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเป็นโรคไมเกรนแบบเรื้อรัง ซึ่งยากต่อการรักษา
4.    ผู้ป่วยควรมีแพทย์ที่ดูแลประจำ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลที่รัก ษาหลายโรงพยาบาล เพราะจะไม่สามารถติดตามอาการ และประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดที่กำลังรักษาอยู่ได้
5.    ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองให้ดีว่า สิ่งใดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้น มา จะได้หลีกเลี่ยง
6.    เนื่องจากผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรดูแลร่างกายลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆในการเกิดโรคนี้ด้วย เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การไม่สูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (รู้ได้โดยการอ่านที่ฉลากยาข้างกล่อง หรือปรึกษาเภสัชกร ถ้าซื้อยากินเอง) และการควบคุมน้ำหนักตัว ไขมัน และน้ำตาลในเลือด

Key: ไมเกรน (Migraine), ปวดหัว


แหล่งข้อมูล
http://haamor.com/th/ไมเกรน/#article101

1 comment:

  1. Most of the blogs pretend themselves as most usable and updated blogs with new information but sometime truth might different. I want to share some facts related to this subject which will help people to enhance their skills. ยาแก้เครียด

    ReplyDelete