โดยแพทย์หญิง สลิล
ศิริอุดมภาส
วว.
พยาธิวิทยากายวิภาค
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) คือ
โรคที่เซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหันจากการเกิดก้อนลิ่มเลือด
(Thrombus) อาการจะเกิดขึ้นฉับพลัน/เฉียบพลัน
โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นหลัก อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ค่อนข้างสูง
การวินิจฉัยโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว และรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด
จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก ผู้ที่เกิดโรคนี้แล้วหนึ่งครั้ง
มีโอกาสที่จะกลับเป็นซ้ำได้อีก
ภาพประกอบจาก
http://medimoon.com/2012/09/undetected-myocardial-infarction-more-common-among-older-adults-research-says
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
พบมากในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา
พบผู้ป่วยมากถึง 1.5 ล้านคนต่อปี
หรือพบผู้ป่วยทุกๆ 600 คนในประชากร 100,000 คน ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทย พบผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในรูปแบบของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทำให้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งกันมากขึ้น
และส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา
อายุที่มากขึ้นก็จะมีโอกาสพบเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น
ในช่วงอายุที่น้อยกว่า 70 ปี
ผู้ชายพบได้มากกว่าผู้หญิง แต่ช่วงอายุที่มากกว่า 70
ปีขึ้นไป ผู้ชายและผู้หญิงพบได้เท่ากันๆ
เนื่องจากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วจะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen,ฮอร์โมนเพศหญิง) มาช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
สำหรับในเด็ก
ก็อาจพบได้จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งที่พบบ่อยในเด็กคือ
โรคหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
การที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย
เกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่มาเลี้ยง ได้แก่
1. การที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
ที่เรียกว่า Atherosclerosis อยู่ก่อน
ซึ่งเป็นสาเหตุมากกว่า 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด
โดยหลอดเลือดแดงแข็ง
เกิดจากมีไขมันและเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบต่างๆมาเกาะตัวเป็นกลุ่มอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดและมีพังผืดห่อหุ้มเอาไว้
เรียกกลุ่มที่เกาะตัวนี้ว่า พลาค (Plaque) จึงทำให้ทางไหลของเลือดแคบลง
หากพังผืดเกิดแตกออก (Plaque rupture) สารเคมีที่อยู่ใน Plaque
ก็จะถูกปล่อยออกมาและกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือดมาเกาะกลุ่มกันที่ผนังหลอดเลือดส่วนนี้
ตามมาด้วยการกระตุ้นระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้ได้โปรตีนชื่อ ไฟบริน (Fibrin)
มาเกาะรวมกับกลุ่มของเกล็ดเลือด
และกลายเป็นกลุ่มก้อนลิ่มเลือดขนาดใหญ่เรียกว่า “ก้อนลิ่มเลือด
(Thrombus)”
ก้อนThrombus ที่เกิดขึ้นนี้ อาจมีขนาดใหญ่มากจนกระทั่งอุดตันหลอดเลือดแดง
จึงทำให้เลือดไหลผ่านไปไม่ได้ เซลล์กล้ามเนื้อที่อยู่ปลายทางของหลอดเลือดเส้นนั้นจึงเกิดการขาดเลือดมาเลี้ยงและตายในที่สุด
ซึ่งการเกิดเหตุการณ์นับตั้งแต่กลุ่ม Plaque แตกออก
จนเกิดก้อน Thrombus นั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
ได้แก่
·
เป็นโรคความดันโลหิตสูง
·
เป็นโรคเบาหวาน
·
เป็นโรคไขมันในเลือดสูง
·
เป็นโรคอ้วน
·
มีระดับ สารโฮโมซีสเตอีน
สูงในเลือด (Homocysteine, กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ไม่
ใช่โปรตีน/Non-Protein amino acid มักพบในเลือดผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ)
·
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
·
ผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
·
พฤติกรรมที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
·
เครียดง่าย
·
สูบบุหรี่
2. เป็นโรคหลอดเลือดอื่นๆอยู่
เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) โรคหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
เป็นต้น
3. การเกิดภาวะต่างๆที่ทำให้หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตัน
เช่น การเกิดมีก้อนลิ่มเลือด (Thrombus) ในหลอดเลือดแดงที่ตำแหน่งอื่นๆของร่างกาย
แล้วหลุดออกกลายเป็นลิ่มเลือดก้อนเล็กๆ (Emboli) ไหลเข้ามาอุดตันหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจ
หรือการมีก๊าซปริมาณมากเข้ามาอยู่ในหลอดเลือดแดง
ก๊าซจึงไม่สามารถละลายอยู่ในเลือดได้
และเกิดเป็นฟองอากาศที่อาจไปขัดขวางการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงของหัวใจได้
เป็นต้น
4. เกิดภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการปริมาณเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ
เลือดแดงที่ไหลมาเลี้ยงจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของเซลล์หัวใจ เช่น
เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง หรือเลือดที่มาเลี้ยงมีปริมาณออกซิเจนต่ำ เช่น
เป็นโรคปอดรุนแรง หรือเป็นโรคโลหิตจาง/ภาวะซีดรุนแรง
ซึ่งทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยที่จะนำออกซิเจนมาให้กับเซลล์กล้าม เนื้อ
หรือเกิดการเสียเลือดออกจากร่างกายปริมาณมาก เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
5. การใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิด
เช่น โคเคน (Cocaine) แอมเฟตามีน (Amphetamine) อีฟีดรีน (Ephedrine) ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดมีการหดตัวอย่างรุนแรง
กายวิภาคหลอดเลือดแดงของหัวใจ
จากท่อเลือดแดงใหญ่ (Aorta)
ที่ออกจากหัวใจ หลอดเลือด 2
เส้นแรกที่แตกแขนงออกมาคือ หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งมีชื่อว่า
หลอดเลือดโคโรนารี ขวา (Right coronary artery) และ
หลอดเลือดโคโรนารี ซ้าย (Left coronary artery )
หลอดเลือดหัวใจซ้าย (Left
coronary artery) จะแตกแขนงต่อทันทีออกเป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กกว่า
เรียกว่า หลอดเลือด Left anterior descending artery และหลอดเลือด
left circumflex artery
ดังนั้นหลอดเลือดหลักที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจจึงมี
3 เส้น โดย
·
Right coronary artery จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจห้องขวา
ส่วนล่างของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้าย รวมถึงส่วนหลังของผนังกั้นห้องหัวใจ ส่วน
·
Left anterior descending artery จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายด้านหน้า และส่วนหน้าของผนังกั้นห้องหัวใจ
และ
·
Left circumflex artery จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านหลัง
การอุดตันของหลอดเลือดแต่ละเส้น จึงทำให้เกิดกล้ามเนื้อตายที่ตำแหน่งแตกต่างกันไป
รวมไปถึงลักษณะอาการ การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรค และภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอาการอย่างไร
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคหลอดเลือดแข็งอยู่ก่อน
และโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดนำมาก่อน
แต่ในบางรายอาจไม่มีก็ได้ โดยจะแสดงอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย
จะมีประวัติของสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายขึ้นมา เช่น
การออกแรงทำงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก อารมณ์เครียด หรือตกใจที่รุนแรง
หรือได้รับการผ่าตัด เป็นต้น
จากการเก็บข้อมูลทางสถิติพบว่า
อาการมักจะเกิดในช่วง 2-3 ชั่วโมงหลังตื่นนอนตอนเช้า
สาเหตุอาจเป็นเพราะว่าในช่วงเวลานี้ ร่างกายมีการหลั่งสารเคมีชื่อ Catecholamine
ซึ่งจะไปกระตุ้นเกล็ดเลือดให้มีการเกาะกลุ่มกันได้ง่ายขึ้น
อาการที่พบเป็นหลัก
คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งจะเจ็บลึกๆ เจ็บเหมือนถูกบีบ ถูกกด
แต่ในบางรายอาจรู้สึกเจ็บแบบแปล๊บๆ
อาการเจ็บจะค่อนข้างรุนแรงจนต้องหยุดทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ตำแหน่งที่เจ็บอยู่ที่ตรงกลางหน้าอก
และอาจร้าวไปที่แขนซ้าย ร้าวไปที่คอ บริเวณกราม หรืออาจร้าวไปที่หน้าท้องก็ได้
แต่จะไม่ปวดร้าวลงต่ำกว่าระดับของสะดือ
ในผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีอาการปวดแบบแสบร้อนที่บริเวณลิ้นปี่
ซึ่งอาการจะคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้
ระดับของอาการปวดในโรคนี้จะรุนแรงและเป็นติดต่อกันนานมากกว่า
30 นาทีขึ้นไป การหยุดพักกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น
ซึ่งแตกต่างจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ที่การหยุดพักจะทำให้อาการบรรเทาลงได้
อาการที่พบร่วมด้วยได้
คือ อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เหงื่อออก ซีด คลื่นไส้ อาเจียน อาจมไข้ต่ำๆไม่เกิน 38 องศาเซลเซียสได้
ตำแหน่ง
และความกว้างที่กล้ามเนื้อหัวใจตายอาจมีผลต่ออาการแสดงที่แตกต่างกันได้ เช่น
หากกล้ามเนื้อหัวใจที่อยู่ด้านหน้าตาย จะตรวจพบความดันโลหิตขึ้นสูง
หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
แต่หากกล้ามเนื้อหัวใจที่อยู่ด้านล่างตายจะตรวจพบความดันโลหิตต่ำหรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
แต่หากกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตกะทันหันได้ เนื่อง
จากกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้
ในผู้ป่วยบางกลุ่ม
อาจมีอาการที่แปลกออกไปได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักไม่มีอาการเจ็บหน้าอก
เนื่องจากประสาทรับความรู้สึกเสื่อมลง ในผู้สูงอาย ก็อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอก
แต่อาจมีอาการเหนื่อยกะทันหัน สับสน ซึม หรือ หมดสติแทน
แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร
สำคัญที่สุดในโรคนี้
คือ ผู้ป่วยจะต้องรีบให้การวินิจฉัยตนเอง เมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้า
อกขึ้นมาเฉียบพลัน อาการเป็นนานมากกว่า 30 นาที
โดยให้รีบมาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุก เฉิน
เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายและคาดว่าผู้ป่วยน่าจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ก็จะอาศัยการตรวจพิเศษ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่
·
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยจะตรวจพบคลื่นไฟ ฟ้าหัวใจผิดปกติ
หากพบความผิดปกติที่เรียกว่า ST elevation ก็จะบ่งว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดขึ้น
ซึ่งสามารถบอกตำแหน่งได้ด้วย แต่หากไม่พบ ST elevation ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดขึ้น
ต้องตรวจด้วยวิธีอื่นต่อไป
·
การตรวจเลือดหาค่าเอนไซม์ของหัวใจ
ซึ่งเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย ก็จะปล่อยเอนไซม์ออกมาในกระแสเลือด ซึ่งได้แก่
เอนไซม์ Cardiac
troponin T และ เอนไซม์ Cardiac troponin I ซึ่งมีความจำเพาะสูงกับโรคนี้
โดยจะเริ่มตรวจพบภายใน 3-12 ชั่วโมงหลัง จากมีอาการ ทั้งนี้
ค่าเอนไซม์นี้ จะสูงสุดที่ 24-48 ชั่วโมง
และจะยังคงตรวจพบอยู่ได้นานถึง 7-10 วัน
ค่าเอนไซม์ตัวอื่นๆที่มีความจำเพาะน้อยกว่าแต่จะตรวจพบได้เร็วกว่า คือ เอนไซม์ Creatine
phosphokinase MB isoenzyme (CKMB) และ เอนไซม์ Myoglobin
·
การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ
โดยตรวจดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหัวใจ
แต่จะใช้แยกกล้ามเนื้อหัวใจที่เคยตายมาก่อนแล้วกับที่เพิ่งเริ่มตายในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ทำได้รวดเร็ว และรู้ผลทันทีในขณะตรวจ
จึงใช้ช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
แต่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่พบ ST elevation ซึ่งหากรอการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด
(การรู้ผลเลือดใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 20-30 นาที)
ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป
·
การตรวจอื่นๆค่อนข้างยุ่งยากและราคาแพง
เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอหัวใจ หรือ
การตรวจหัวใจโดยใช้สารกัมมันตรังสี (Radionuclide imaging techniques)
รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร
หลักการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่สำคัญที่สุด
คือ ต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วทันท่วงที
ก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะตายลงในที่สุด
ซึ่งก็จะต้องอาศัยการวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง การรักษาจึงแบ่งออกเป็น
1. การรักษาในระยะก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย
คือ การทำให้หลอดเลือดที่อุดตัน หายอุดตันและทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจต่อไปได้
ซึ่งจะช่วยลดบริเวณที่กล้ามเนื้อหัวใจตายให้น้อยที่สุด
และลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนต่างๆลงได้ โดยมีวิธีการอยู่ 2 รูปแบบ คือ
·
การใส่สายสวนหัวใจเพื่อไปละลายกลุ่มลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดหัวใจ
เรียกว่า Percutaneous coronary intervention (PCI)
·
การให้ยาละลายกลุ่มลิ่มเลือด
(Fibrinolysis)
เช่น ยา Tissue plasminogen acti vator, Streptokinase,
Tenecteplase, และReteplase
โดยระยะเวลานับตั้งแต่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจตาย
คือ ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆด้วย
ได้แก่ มีการอุดตันของหลอดเลือดโดยสมบูรณ์หรือไม่ หรือยังพอมีเลือดไหลได้บ้างเล็กน้อย
มีหลอดเลือดแดงเล็กๆมาช่วยเลี้ยงบริเวณนั้นหรือไม่
ความต้องการออกซิเจนของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจในขณะนั้น เป็นต้น
ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการมานานไม่เกิน
30 นาทีจะได้ประโยชน์จากการรักษาดังกล่าวข้างต้นมากที่สุด รองลงไป
คือมีอาการมานาน 1-3 ชั่วโมง นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายที่อาการเป็นมานานมากกว่า
3-6
ชั่วโมงการให้ยาละลายกลุ่มลิ่มเลือดก็ยังอาจมีประโยชน์อยู่บ้าง
2. การรักษาในระยะที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย
ผู้ป่วยที่มีอาการมานานเกินระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจตายสนิทแล้ว
การรักษาโดยการทำให้หลอดเลือดหายอุดตัน และมีเลือดไหลไปเลี้ยงนั้นไม่มีประโยชน์แล้ว
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงอาศัยการรักษาตามอาการ
โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดภายในหอผู้ป่วยวิกฤต
เพื่อระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีการติดตามสัญญาณชีพ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา และให้ผู้ป่วยนอนพักอยู่บนเตียงเท่านั้นในช่วง 12 ชั่วโมงแรก ให้ขับถ่ายบนเตียง ทั้งนี้เพื่อลดภาระงานของหัวใจ รวมถึง
การงดอาหาร การให้ยาคลายเครียด ยานอนหลับ และให้ยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วย เช่น
ยากลุ่มมอร์ฟีน เป็นต้น
นอกจากนี้
แพทย์จะใช้ยากลุ่มที่ไปลดภาระการทำงานของหัวใจโดยตรงร่วมด้วย เช่น ยา กลุ่ม Beta-adrenoceptor
blocker, Angiotensin-converting enzyme, Angiotensin receptor blockers เป็นต้น
3. การรักษาภาวะแทรกซ้อน
โดยให้การรักษาตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ
เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เป็นต้น
4. การป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ
ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายในบริเวณที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้อีก
ผู้ป่วยทุกรายจึงต้องได้รับยาป้องกันตลอดชีวิตหากไม่มีข้อห้ามอื่นๆ เช่น
ยาป้องกันการเกาะตัวของลิ่มเลือด (เช่น แอสไพริน หรือ Clopidogrel)
ในบางรายอาจได้รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย เช่น Warfarin ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายก็อาจได้ยาในกลุ่ม Angiotensin converting
enzyme inhibitors หรือ Angiotensin receptor blockers เป็นต้น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้น
ได้แก่
1. ภาวะหัวใจวาย
เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
และในเวลาต่อๆมาเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัว
ใจบริเวณที่ตายจะมีการยืดขยายและบางตัวออก และไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่าง
กายได้เพียงพอ ตำแหน่งและความกว้างของบริเวณที่ตาย
มีผลต่อความรุนแรงของภาวะหัวใจวาย
2. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
พบได้หลายรูปแบบมักเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ชนิดที่อันตรายคือหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Ventricular fibrillation ซึ่งจะทำให้หัวใจไม่สามารถบีบเลือดส่งไปเลี้ยงร่างกายได้
ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติอย่างกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โดยการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) แล้วผู้ป่วยก็จะเสียชี
วิตอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้มักเกิดภายใน 48
ชั่วโมงแรกหลังมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หากไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้
เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะพิจารณาใส่เครื่อง
ช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติไว้ในตัวผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
3. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
(Pericarditis)
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกคล้ายอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
แต่การปวด มักจะร้าวไปบริเวณหลังส่วนบน
โดยจะต้องแยกออกจากอาการที่เกิดใหม่จากการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำอีกให้ได้
เพราะการรักษาจะต่างกัน
4. การเกิดก้อนลิ่มเลือดในห้องหัวใจ
(Thrombus)
และหลุดออกเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ (Thromboemboli) ลอยไป อุดตันหลอดเลือดอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสำคัญได้ เช่น
หากลอยไปอุดหลอดเลือดในสมอง จะทำให้เกิดเนื้อสมองตาย กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
การเกิดลิ่มเลือดนี้ มักพบในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายทางด้านหน้าตาย
เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจทางด้านหน้าเป็นพื้นที่ที่เป้นบริเวณกว้าง เมื่อเกิดการตาย
กล้ามเนื้อที่เหลือไม่สามารถบีบตัวได้เป็นปกติ
เลือดจึงมีการไหลวนในห้องหัวใจที่ผิดปกติไปด้วย
จึงทำให้มีโอกาสเกิดเป็นก้อนลิ่มเลือดขึ้นมา
5. ผนังห้องหัวใจโป่งพอง
(Aneurysm)
กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายไปแล้ว
จะกลายเป็นพังผืดซึ่งไม่มีความยืดหยุ่นตัว เมื่อรับแรงกระแทกจากการไหลวนของเลือดในห้องหัวใจเป็นเวลานานๆ
ก็จะเกิดการโป่งพองออกในที่สุด บริเวณที่โป่งพองออกนี้
มีโอกาสเกิดก้อนลิ่มเลือดได้
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันรุนแรงไหม
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
เป็นโรครุนแรง อัตราการเสียชีวิตขึ้นกับการวินิจฉัยให้ได้รวดเร็ว และความพร้อมทั้งเครื่องมือและบุคลากรในการรักษาที่รวดเร็วที่สุด
โดยเฉลี่ยแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล
ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อัตราตายในช่วง 30 วัน จะอยู่ที่ประมาณ 30% (ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพพร้อม)
ในผู้ป่วยที่รอดชีวิต ประมาณ 1 คนใน 25 คน จะเสียชีวิตภาย ใน 1 ปีหลังจากนั้น
ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 75 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่านี้
ถึง 4 เท่า
ป้องกันและการดูแลตนเองอย่างไร
การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและการดูแลตนเอง
คือ
1. เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
การป้องกันโรค จึงต้องป้องกันการเป็นโรคนี้ ซึ่งได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาล
และระดับไขมันในเลือดให้เหมาะสม (ป้องกัน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
โรคไขมันในเลือดสูง) การควบคุมน้ำ หนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น
2. สำหรับสาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย
บางอย่างอาจป้องกันไม่ได้ เช่น
การเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด แต่บางอย่างก็ป้องกันได้
เช่น การใช้สารเสพติดโคเคน แอมเฟตามีน การกินยารักษาโรคของต่อมไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
เป็นต้น
3. ผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้ว
ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดภาระการทำงานให้กับหัวใจ ได้แก่ การไม่ทำงานหนักเกินกำลัง
หรือทำจนเหนื่อย การออกกำลังกายตามชนิดและระยะเวลาที่แพทย์ พยาบาลแนะนำ
การพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด การกินอาหารให้เหมาะสม โดยลดอาหารประเภท แป้ง
ไขมัน และอาหารที่มีปริมาณเกลือแกงสูง (อาหารเค็ม)
4. เนื่องจากผู้ป่วยที่เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายขึ้นมาแล้ว
มีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก จึงต้องป้องกัน โดยการกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
รวมถึงการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างเข้มงวด
5. พบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ
6. รีบพบแพทย์ก่อนนัด
หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอา การ เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
หรือ อาการต่างๆเลวลง หรือกังวลในอาการ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่
กรณีทั่วไป
ควรรีบพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
1. หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแบบรุนแรงต่อเนื่องนานเกิน
30 นาที นั่งพักแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
2. ผู้สูงอายุ
หรือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกปรากฏ
ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เหนื่อยกะทันหัน เหงื่อออก ซีด สับสน ซึม
หรือหมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลฉุกเฉิน
Key: กล้ามเนื้อหัวใจตาย,
หัวใจขาดเลือด, Acute myocardial infarction
No comments:
Post a Comment