Friday, February 5, 2016

หมอนรองกระดูกเคลื่อน (ตอนที่ 1)

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

หลายสัปดาห์ก่อนผู้เขียนไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช เห็นที่แผนกออร์โธพีดิกส์เขียนอยู่บนกระดานว่า ขณะนี้โรคที่พบมากที่สุดของแผนก คือ HNP จึงเกิดความสงสัยว่าย่อมาจากอะไร สืบไปสืบมาได้ความว่าคำว่า “HNP” เป็นศัพท์ทางการแพทย์ ย่อมาจากคำว่า “Herniated Nucleus Pulposus” หรือที่เรารู้จักกันว่า “โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท” นั่นเอง
หมอนรองกระดูกเป็นเหมือนเบาะยางอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ หมอนรองกระดูกแต่ละอันจะมีลักษณะเป็นแคปซูลกลมแบน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และหนาประมาณ ¼ นิ้ว ประกอบด้วยเยื่อเส้นใยเหนียวรอบนอกที่เรียกว่า Annulus fibrosus และเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลางที่ยืดหยุ่นได้ที่เรียกว่า Nucleus pulposus
หมอนรองกระดูกช่วยทำให้กระดูกสันหลังยืดหยุ่นได้ งอได้ และป้องกันไม่ให้กระดูกแต่ละข้อขัดสีกันเอง ในเด็กจะมีลักษณะเหมือนเจลหรือถุงใส่ของเหลว แต่จะเริ่มแข็งขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น ในวัยหนุ่มสาวเลือดที่มาเลี้ยงหมอนรองกระดูกจะหยุดทำงาน ทำให้เนื้อเยื่อข้างในแข็งขึ้นและหมอนรองกระดูกจะขาดความยืดหยุ่นไป
ในวัยกลางคนหมอนรองกระดูกจะเหนียวและแข็งเหมือนกับยางที่แข็งตัว การเปลี่ยนแปลงไปตามวัยทำให้เส้นใยรอบนอกอ่อนแอลงและหมอนรองกระดูกมีแนวโน้มที่จะได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น ส่วนโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Pulposus) นั้นเราเรียกกันสั้นๆว่า โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นภาวะที่กระทบต่อกระดูกสันหลังอันเนื่องมาจากการบาดเจ็บ หรือไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอก (Annulus fibrosus) ของหมอนรองกระดูก ปล่อยให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลาง (Nucleus pulposus) ซึ่งมีลักษณะคล้ายวุ้นแตกหรือเคลื่อนออกมากดทับรากประสาทและเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท
แม้ว่าการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจะทำอันตรายต่อหมอนรองกระดูกได้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากอายุที่มากขึ้นหรือเกิดจากกิจกรรมประจำวัน เช่น การยกของหนักในท่าที่ผิด การยืดตัวมากไประหว่างการเล่นเทนนิส หรือการลื่นหกล้ม ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอกฉีกขาดหรือบิดเบี้ยวแล้วกดทับลงบนเส้นประสาท
นอกจากนี้ สาเหตุที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน อาจมาจากความเสื่อมตามปกติ เช่น เมื่อมีการทำงานที่ต้องนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่า บางครั้งก็พบว่าหมอนรองกระดูกอาจบวม ฉีกขาด หรือเสื่อมโดยไม่มีสาเหตุ และพบว่าลักษณะทางกรรมพันธุ์ (Genetics) ก็เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาในหมอนรองกระดูกด้วยเช่นกัน
อาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งและชนิดของเนื้อเยื่อที่เป็น อาจแสดงอาการเล็กน้อยถ้ามีเพียงเนื้อเยื่อเดียวที่ได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างคอแข็งหรือ ปวดหลังส่วนล่างเพราะรากประสาทได้รับการกระทบกระเทือนจากการเคลื่อนนั้นด้วย
ปกติแพทย์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ในทันทีทันใด เนื่องจากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดไม่ทราบสาเหตุที่ ขา เข่า หรือเท้า อาการอย่างอื่นอาจรวมถึง อาการชา อาการเป็นเหน็บ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต (Paralysis) ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนไป (Paresthesia)

แหล่งข้อมูล:
Spinal disc herniation. http://en.wikipedia.org/wiki/Herniated_nucleus_pulposus [2012, July 27].

Understanding Spinal Disk Problems - the Basics. http://www.webmd.com/back-pain/guide/understanding-spinal-disk-problems-basic-information [2012, July 27].

Key: หมอนรองกระดูก, หมอนรองกระดูกเคลื่อน


No comments:

Post a Comment