โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
หมอนรองกระดูกเคลื่อนมักเกิดในผู้ชายและในผู้หญิงที่อายุระหว่าง 30 – 50 ปี ผู้ที่ออกกำลังกายประจำมักมีปัญหาน้อยกว่าผู้ที่นั่งนานๆและไม่ค่อยเคลื่อนไหว การรักษาน้ำหนักให้พอดีก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการป้องกันการมีปัญหาที่หลัง
ถ้าหมอนรองกระดูกเคลื่อนบริเวณเอวหรือด้านหลังตอนล่าง (Lumbar region) หรือที่เรียกว่ากระเบนเหน็บ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวตามส่วนหลัง สะโพก และขา เพราะไปกดทับรากประสาทที่ชื่อว่า Sciatic nerve
ถ้าผู้ป่วยมีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนที่กระดูกบริเวณ L3 หรือ L5 (ซึ่งมักจะกระทบกับเข่าและขา) อาจมีโอกาสกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้ เนื่องจากมีอาการไม่แข็งตัว/นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction : ED) อันมีสาเหตุมาจากการที่เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อพี (P muscle) ถูกกระทบ
อาการนี้ไม่เหมือนอาการปวดที่เป็นๆ หายๆ ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อชักกระตุก อาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนจะเป็นติดต่อกันหรืออย่างน้อยก็ปวดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายติดต่อกัน หมอนรองกระดูกเอาจจะเคลื่อนโดยไม่แสดงอาการปวดหรืออาการใดๆ ให้เห็นชัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ถ้าเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลาง (Nucleus pulposus) ที่โผล่ออกมา ไม่ได้กดทับเนื้อเยื่อหรือประสาท ก็จะไม่แสดงอาการใดๆ
มีงานวิจัยกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ในอาสาสมัครที่มีอาการเคลื่อนของกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical spine) แต่ไม่ปรากฏอาการอะไร และพบว่าร้อยละ 50 ของอาสาสมัครนั้นมีส่วนที่ยื่นออกมาในจุดสำคัญ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกส่วนคออาจไม่มีอาการใดปรากฏให้เห็น
โดยทั่วไปอาการที่ปรากฏจะเกิดขึ้นในซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการกดของหมอนรองกระดูกลงบนไขสันหลัง (Spinal cord) หรือกลุ่มรากประสาทคล้ายหางม้า(Cauda equina) ในบริเวณเอวด้านหลัง อาการนั้นอาจจะปรากฏขึ้นได้ทั้งสองด้านของร่างกาย
การกดทับกลุ่มรากประสาทดังกล่าวอาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายอย่างถาวรหรือเป็นอัมพาตได้ ทำให้สูญเสียการควบคุมลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ตลอดจนมีปัญหาในเรื่องเพศสัมพันธ์ (Sexual dysfunction) การปวดหลังเล็กน้อยและการเมื่อยหลังแบบเรื้อรังก็เป็นสัญญานของความเสื่อมที่น่าสงสัยว่าจะเกิดจากการเคลื่อนของหมอนรองกระดูก เช่น การก้มลงเก็บดินสอหรือของที่ตกพื้น
เมื่อกระดูกสันหลังตั้งตรง เช่น ขณะยืนหรือนอน ความกดดันภายในหมอนรองกระดูกจะเท่ากันในทุกส่วน โดยมีน้ำหนักอยู่ที่ 17 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (Pound per square inch : psi) แต่ในขณะที่นั่งหรือก้มลงยกของ ความกดดันภายในจะเปลี่ยนเป็น 300 psi
การเคลื่อนของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลาง (Nucleus pulposus) ที่อยู่ในหมอนรองกระดูกเข้าไปในช่องไขสันหลัง (Spinal canal) มักเกิดขึ้นเมื่อส่วนด้านหน้าท้องถูกกดขณะกำลังนั่งหรือก้มโค้งไปข้างหน้า ทำให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลางถูกกดยึดกับเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอก (Annulus fibrosus) ของหมอนรองกระดูก
แรงกดดันภายใน (200 - 300 psi) ทำให้เกิดการแตกของเนื้อเยื่อซึ่งมีลักษณะคล้ายวุ้นไหลเข้าไปในช่องไขสันหลัง กดทับรากประสาทและเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหรืออาการอื่นๆ
แหล่งข้อมูล:
Spinal disc herniation. http://en.wikipedia.org/wiki/Herniated_nucleus_pulposus [2012, July 28].
Understanding Spinal Disk Problems - the Basics. http://www.webmd.com/back-pain/guide/understanding-spinal-disk-problems-basic-information [2012, July 28].
Key: หมอนรองกระดูก, หมอนรองกระดูกเคลื่อน
แหล่งข้อมูล
http://haamor.com/th/หมอนรองกระดูกเคลื่อน-มาเยือนคุณหรือยัง-2
No comments:
Post a Comment