โดย รศ.นพ.วัฒนชัย โรนจวณิชย์
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ถาม. ลักษณะอย่างไรถึงเรียกว่า โรคขัอเสื่อม
ตอบ. โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดกับข้อ เป็นในกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามสามารถเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุน้อยกว่านั้น ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง ที่มีรูปร่างอ้วน โดยจะมีลักษณะอาการปวด โดยเฉพาะเวลาเดิน แม้จะเดินในที่ราบ เดินไปสักครู่จะต้องพัก ผู้ป่วยบางรายเวลาลุกออกจากเก้าอี้ไม่สามารถลุกเดินได้ทันที จะต้องตั้งหลักสักครู่ถึงจะก้าวเดินได้ ในรายที่เป็นมากอาจไม่สามารถก้าวเดินได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่สามารถนั่งยองๆได้ คุกเข่าได้
ถาม. ตำแหน่งที่มักพบบ่อยได้แก่ตำแหน่งใด
ตอบ. ความจริงโรคข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้ตามข้อต่างๆในร่างกาย ที่พบบ่อยได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก บั้นเอว กระดูกคอ ก็จะพบความเสื่อมของข้อกกระดูกได้อย่างชัดเจน ที่พบน้อยมาก อาจจะเป็นข้อไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า ข้อนิ้วมื้อ ข้อนิ้วเท้า
ถาม. สาเหตุหรือว่าปัจจัยเสี่ยง
ตอบ. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องของอายุ เรื่องของกรรมพันธุ์ รูปร่างลักษณะร่างกาย รวมทั้งการใช้งาน เช่นอาชีพที่มีการเคลื่อนไหวข้อนั้นๆมากๆ ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดการเสื่อมสภาพได้เช่นเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติบาดเจ็บของข้อนั้นๆ หรือเคยผ่านการผ่าตัดของข้อนั้นๆมา ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งได้
ถาม. เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุของข้อเสื่อม
ตอบ. จริงๆสามารถจะทราบได้จากการซักประวัติของผู้ป่วยอย่างคร่าวๆได้ น่าจะคิดถึงจากปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างร่วมกัน แต่อย่างไรการตามการตรวจร่างกายจะสามารถทำในการวินิจฉัยแน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การตรวจข้อ ข้อนั้นมีการเคลื่อนไหวที่เต็มพิสัยของข้อ แสดงว่า เป็นน้อย คนที่เป็นมากขึ้น เช่น ข้อเข่าจะไม่สามารถงอได้สุด หรือเหยียดไม่ได้สุด หรือมักพบเสียงที่ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหว บางคนจะเรียกว่า ข้อฝืด ซึ่งความผิดปกติต่างๆเหล่านี้สามารถตรวจร่างกายได้ โดยเฉพาะการถ่ายภาพรังสี จะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ถาม. วิธีการรักษาในปัจจุบัน มีกี่วิธี
ตอบ. การรักษาในปัจจุบัน วิธีที่นิยมและเริ่มต้นรักษาในปัจจุบัน เรียกว่า การรักษาอนุรักษ์นิยม คือ แพทย์จะอธิบายความเป็นมาที่ของโรคนี้ให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้ผู้ป่วยเข้าใจและสามารถดูแลปฏิบัติตนเองได้ในระดับหนึ่ง ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีการดูแลแล้วยังมีอาการเจ็บปวด ก็จะต้องอาศัยยาเข้าไปช่วย เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ มีการปรับเปลี่ยนรองเท้า หรือใช้เครื่องพยุงข้อเข่าซึ่งเป็นการรักษาเบื้องต้นที่คนไข้จะต้องร่วมมือกับแพทย์ที่ทำการรักษาด้วย
ถาม. ความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมาพบแพทย์เมื่อเกิดอาการเริ่มต้น
ตอบ. การมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ จะเกิดประโยชน์มากกว่าในแง่ที่ว่า ถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงไม่มาก ก็สามารถดูแลรักษาด้วยตนเองได้ สำหรับในกลุ่มที่จำเป็นจะต้องทำการรักษาตามวิธีอย่างที่ได้เรียนมาข้างต้น นอกจากการรับประทานยาและการดูแลปฏิบัติตนเองแล้ว อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย อีกวิธีหนึ่งที่เป็นนวตกรรมในระยะเวลา 10- 20 ปี ที่ผ่านมาก็คือ การใช้กล้องส่องข้อเข้ามาร่วมในรักษา จะรักษาในกรณีที่ผู้มีลักษณะของขาที่โก่งไม่มาก มีอาการอักเสบบวมของข้อนั้นๆเป็นระยะเวลายาวนาน ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีลักษณะที่โก่งมาก แต่อายุไม่มาก เช่น อายุ 50 ต้นๆ ก็สามารถจะทำการจัดแนวขาให้ตรง คล้ายกับคนปกติ ด้วยวิธีการผ่าตัดปรับแนวขา สำหรับขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อ ซึ่งหมายถึง การถากผิวกระดูกไม่เกิน 10 มิลลิเมตร คล้ายๆกับการรักษาทางทันตกรรมก็คือ การครอบฟัน ซึ่งการดูแลรักษาข้อเข่าเสื่อมจะใช้วัสดุซึ่งเป็นสารผสมสวมขึ้นไปทั้งด้านบนและล่าง และตรงกลางของข้อจะมีวัสดุพิเศษที่ใช้ในการเคลื่อนไหว
ถาม. การออกกำลัง การบริหาร ควรเลือกประเภทใดที่เหมาะสม
ตอบ. ในปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและดีที่สุดก็คือ การเดินออกกำลังกายในพื้นราบ โดยมีระยะทาง 1-2 กิโลเมตร จะดีกับทุกเพศทุกวัยและไม่กระทบกระเทือนผิวข้อจนเกินไป ส่วนการวิ่งคงจะเหมาะสมกับคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อายุน้อย ก็สามารถปฏิบัติได้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่สูงอายุ ควรเลือกการเดิน ก็จะเหมาะสมที่สุด ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน การรออกกำลังกายเหล่านี้ก็จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพละกำลังของกล้ามเนื้อต้นขาได้เป็นอย่างดี
ถาม. จะมีวิธีการป้องกันอย่างไร
ตอบ. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผลกระทบสำหรับข้อเข่า หมั่นบริหารข้อเข่าให้แข็งแรง คนที่ที่เคยมีประวัติเจ็บป่วยที่ข้อเข่า ควรจะปรึกษาแพทย์ และรับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้ข้อนั้นเสื่อมช้าลง คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเก๊าท์ ควรจะต้องติดตามและรักษาอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของข้อได้
Key: โรคขัอเสื่อม, Osteoarthritis
แหล่งข้อมูล
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=159
No comments:
Post a Comment