โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ
แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา
และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
โรค หรือ ภาวะ
ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) คือภาวะที่ความดันโลหิต
(เลือด) ซีสโตลิค (Systolic blood pressure) ต่ำกว่า 90
มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ ความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure)
ต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท
ซึ่งความดันโลหิตต่ำอาจต่ำเพียงความดันซีสโตลิค หรือ ไดแอสโตลิกตัวใดตัวหนึ่ง
หรือต่ำทั้งสองตัวก็ได้ ซึ่งโดยทั่ว ไปแพทย์ไม่จัดความดันโลหิตต่ำเป็นโรค
แต่จัดเป็นภาวะ
ภาพประกอบจาก
http://healthy-ojas.com/lowbp/low-pressure.html
ภาวะความดันโลหิตต่ำเป็นภาวะที่ยังไม่มีการบันทึกอุบัติการณ์ที่แน่นอน
เพราะเมื่อความดันโลหิตต่ำไม่มาก มักไม่ก่ออาการ และเมื่อมีอาการ
ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ เช่น วิงเวียน เป็นลม
ไม่ได้มาด้วยเรื่องความดันโลหิตต่ำ ดังนั้น การจดบันทึกของโรงพยาบาล
จึงมักไม่ได้ระบุว่า เป็นอาการจากความดันโลหิตต่ำ
อย่างไรก็ตาม
ภาวะความดันโลหิตต่ำ พบเกิดได้ทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน และพบได้ในทุกอายุ
ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
อะไรเป็นสาเหตุและกลไกให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
โรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ซึ่งมีกลไกการเกิดดังนี้
·
ปริมาณน้ำ ของเหลว
และ/หรือเลือด (โลหิต) ในการไหลเวียน เลือดลดลง จึงมีเลือดกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลง
หัวใจจึงเต้นบีบตัวลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง เช่น ภาวะขาดน้ำ
และ/หรือขาดเกลือแร่ ภาวะเลือดออกรุนแรง
ภาวะร่างกายเสียน้ำจากท้องเสียรุนแรงหรือจากมีแผลไหม้รุนแรง
การลุกขึ้นทันทีจากท่านอนโดยเฉพาะเมื่อนอนนานๆ เมื่อไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
หรือเมื่อนั่งนานๆ (ปริมาณเลือดจะคั่งที่ขา เมื่อลุกขึ้นทันที
เลือดจึงไหลกลับหัวใจได้น้อย ความดันโลหิตจึงต่ำลงทันที) ซึ่งกลไกนี้
พบเป็นสาเหตุของความดันโลหิตต่ำได้บ่อยที่สุด
โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจากไม่ค่อยดื่มน้ำ เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า
ภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่า (Postural or Orthostatic
hypoten sion)
·
ภาวะโลหิตจาง
เพราะส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดลดลงจากปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง
ส่งผลให้ปริมาตรในภาพรวมของเลือดลง จึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
·
ในบางคนภายหลังกินอาหารมื้อหลักปริมาณสูงมาก
จึงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหาร และลำไส้เพิ่มขึ้น
เกิดภาวะคล้ายมีเลือดคั่งในกระเพาะอาหารและลำไส้
เพราะกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานเพิ่มขึ้น จึงขาดปริมาณเลือดโดยรวมในการไหลเวียนในกระแสโลหิต
เลือดจึงกลับเข้าหัวใจน้อยลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Postprandial hypotension
·
จากโรคของประสาทอัตโนมัติ
ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือด และการบีบตัวของหัวใจ
จึงทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดขยาย เลือดจึงคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆเพิ่มขึ้น
การไหลเวียนโลหิตจึงลดลง เลือดกลับเข้าหัวใจลดลง จึงส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ เช่น
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรคความจำเสื่อมบางชนิด
ซึ่งเรียก ภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Neurogenic orthostatic
hypotension
·
จากภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต/เลือด
(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดขยายตัวมากขึ้นพร้อมๆกัน
รวมทั้งเกิดการล้มเหลวในการทำงานของหัวใจและปอด
จึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
·
จากการแพ้ยา หรือแพ้อาหาร หรือแพ้สารต่างๆอย่างรุนแรง
ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วตัวขยายตัวทันที
และร่วมกับมีของเหลว/น้ำในเลือดซึมออกนอกหลอดเลือด
จึงเกิดการขาดเลือดไหลเวียนในกระแสโลหิต ความดันโลหิตจึงต่ำลง
เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Anaphylaxis
·
จากโรคหัวใจ
หัวใจจึงบีบตัวเต้นผิดปกติ จึงลดแรงดันในหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำ เช่น
โรคหลอดเลือดหัวใจ
·
จากการตั้งครรภ์
มักเกิดในระยะ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
จากการที่ต้องเพิ่มเลือดหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ การไหลเวียนโลหิต
หรือปริมาตรโลหิตในมารดาจึงลดลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้ แต่ร่างกายมารดามักปรับตัวได้เองเสมอเมื่อมารดามีสุขภาพแข็ง
แรง
·
จากโรคของต่อมไร้ท่อซึ่งสร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงาน
ของหัวใจ ของหลอดเลือด และของเกลือแร่ต่างๆที่เป็นตัวอุ้มน้ำในหลอดเลือด
จึงส่งผลถึงการไหลเวียนโลหิต จึงเกิดความดันโลหิตต่ำได้ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์
โรคของต่อมหมวกไต หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในโรคเบาหวาน
·
ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
เช่น ยาขับน้ำ ยาลดความดันโลหิตสูง ยาไวอะกรา (Viagra) หรือ ยาทางจิตเวชบางชนิด
·
จากมีการกระตุ้นวงจรประสาทอัตโนมัติและสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของหลอดเลือด
และหัวใจ ซึ่งเมื่อเกิดการกระตุ้นวงจรนี้ จะส่งผลให้หลอดเลือดและหัวใจทำ
งานผิดปกติ ความดันโลหิตจึงต่ำลงได้ เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Neurally
mediated hypotension เช่น จากอารมณ์/จิตใจ (กลัวมาก ตกใจ
เห็นภาพสยดสยอง หรือ เจ็บ/ปวดมาก) จากการยืน หรือ นั่งไขว่ห้างนานๆ การอยู่ในที่แออัด
และ/หรืออบอ้าว การอาบ น้ำอุณหภูมิอุ่นจัด
หรือการหยุดพักทันทีขณะออกกำลังกายอย่างหนัก
ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ
ได้แก่
·
ผู้สูงอายุ จากดื่มน้ำน้อย
และจากไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
·
ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น
โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคของต่อมไทรอยด์และภาวะซีด
·
กินยาบางชนิดโดยเฉพาะ
ยาขับน้ำ ยาโรคความดันโลหิตสูง และยาโรคเบาหวาน
·
มีภาวะขาดน้ำ จากสาเหตุต่างๆ
เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียน รุนแรง หรือภาวะลมแดด
โรคความดันโลหิตต่ำมีอาการอย่างไร
อาการพบบ่อยของโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ
คือ
·
วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม
·
ตาลาย
·
คลื่นไส้ อาจอาเจียน
·
มือ เท้าเย็น
·
เหงื่อออกมาก
·
ชีพจรเบา เต้นเร็ว
·
หายใจเร็ว เหนื่อย
·
กระหายน้ำ ตัวแห้ง
ปัสสาวะน้อย เมื่อเกิดจากภาวะขาดน้ำ
·
บางคนอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
เมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
·
อาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว หน้า
ตัวบวม เมื่อเกิดจากการแพ้สิ่งต่างๆ
·
อาจชัก
·
หมดสติ
เมื่อความดันโลหิตต่ำมาก
แพทย์วินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำได้อย่างไร
แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำได้จาก
การวัดความดันโลหิต และวินิจฉัยหาสาเหตุได้จาก ประวัติอาการ
ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติกินยาต่างๆ หรือ กินอาหาร
หรือถูกสัตว์/แมลงต่อย การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ทั้งนี้ขึ้น
กับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
เมื่อสงสัยโรคหัวใจ
หรือการตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลเมื่อสงสัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากโรคเบาหวาน เป็นต้น
รักษาโรคความดันโลหิตต่ำได้อย่างไร
แนวทางการรักษาโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ
คือ การเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามสาเหตุ เช่น
ให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำเมื่อเกิดจากภาวะขาดน้ำ
การให้เลือดเมื่อเสียเลือดมาก
หรือการให้ยาเพิ่มความดันโลหิต/ยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือด
เมื่อเกิดจากหลอดเลือดขยายตัวผิดปกติ
นอกจากนั้น คือ
การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปรับยาเบาหวานเมื่ออาการเกิดจากโรคเบาหวาน
โรคความดันโลหิตต่ำรุนแรงไหม
มีผลข้างเคียงไหม
โดยทั่วไป
โรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำมักไม่รุนแรง คนส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ
และไม่ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตต่ำ และเมื่อมีอาการ ภายหลังการพักผ่อน
ผู้ป่วยมักกลับมามีความดันโลหิตปกติได้
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ
ขึ้นกับสาเหตุ เช่น เมื่อเกิดจากดื่มน้ำน้อย ความรุนแรงต่ำ เมื่อเกิดจากเสียน้ำ
เสียเลือดมาก ความรุนแรงสูงขึ้น หรือเมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
ความรุนแรงจะสูงมาก
ผลข้างเคียงจากโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ
คือ สมองขาดเลือด อาจหมดสติ จึงเกิดการล้ม หรือ การชักได้
ดูแลตนเองอย่างไร ควรพบแพทย์เมื่อไร
การดูแลตนเอง
การพบแพทย์เมื่อมีโรคความดันโลหิตต่ำ ได้แก่
·
ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
·
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
·
เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
·
เมื่อจะเปลี่ยนท่าทาง เช่น
จากนอนเป็นยืน โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องค่อยๆเปลี่ยนท่าทาง
จากนอนอาจต้องลุกนั่งพักสักครู่ก่อนแล้วจึงยืน
จากนั่งอาจต้องยืนยึดจับสิ่งยึดเหนี่ยวให้มั่นคงก่อน จึงก้าวเดิน
·
หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ
แต่ถ้าเป็นอาชีพ อาจต้องใส่ถุงน่องช่วยพยุงหลอดเลือดไม่ให้เกิดการแช่ค้างของเลือด
และไม่นั่งไขว่ห้างนานๆ เพื่อลดการเบียดทับหลอดเลือด จึงเพิ่มการไหลเวียนเลือด
·
กินยาต่างๆอย่างถูกต้อง
และรู้จักผลข้างเคียงของยาที่กินอยู่
·
กินอาหารแต่ละมื้ออย่าให้ปริมาณมากเกินไป
·
ต้องจำให้ได้ว่าแพ้อะไร
เพื่อการหลีกเลี่ยง
·
ดูแล รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ
·
ควรพบแพทย์เมื่อ
o
มีอาการของโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำบ่อยๆ
ควรต้องหาสาเหตุ เพื่อการรักษาควบคุมโรคแต่เนิ่นๆ
o
อาการต่างๆเลวลง หรือ
ไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง
o
อาการต่างๆรุนแรง
โดยเฉพาะอาการทางการหายใจ และการแน่นเจ็บหน้า อก เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
o
กังวลในอาการ
ป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำอย่างไร
การป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำ
เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
·
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
·
ระมัดระวังในการเปลี่ยนท่าทางโดยเฉพาะเมื่อต้องลุกขึ้นยืน
เปลี่ยนท่าทางให้ช้าลง ทำทีละขั้นตอนเสมอ เช่น จากนอน เป็นนั่งพัก
แล้วจึงค่อยลุกขึ้นยืน
·
รักษา
และควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
·
ระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ
ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
และกินยาแต่ละชนิดควรต้องรู้ผลข้างเคียงจากยา
Key: ความดันโลหิตต่ำ
(Hypotension), ปวดหัว